หน้าแรก เกี่ยวกับกรม กฎหมาย ถาม-ตอบ ติดต่อกรม แผนผังเว็ปไซต์ ข่าว RSS
ประกาศร่างขอบเขตของงาน(TOR)
ประกาศราคากลาง
ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศการขายทอดตลาด
ประกาศผลการสอบราคา/ประกวดราคา
สรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างรายเดือน (สขร.1)
 
กพร. ขานรับนโยบาย “สุริยะ” สร้างอุตสาหกรรมรักษ์โลก ดันสถานประกอบการยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

          

กพร. ขานรับนโยบาย “สุริยะ” สร้างอุตสาหกรรมรักษ์โลก ดันสถานประกอบการยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวคู่มือและระบบการประเมินประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร พร้อมผลักดันสถานประกอบการให้ดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม และสนับสนุนการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดกลับมาใช้ใหม่

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมประกอบกิจการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) หรือเรียกว่า BCG Model โดยผลักดันให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีรีไซเคิลอยู่แล้ว ขยายผลการนำองค์ความรู้ดังกล่าวและหลักการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างการเติบโตทางธุรกิจจากการใช้ประโยชน์กากของเสียและวัสดุเหลือใช้ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร รวมทั้งสร้างโอกาสและความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนด้วย

นายวิษณุ  ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้จัดทำคู่มือการประเมินประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร (Circular Economy Performance Assessment Guidebook) และระบบการประเมินด้วยตนเอง (Circular Economy Performance Assessment System: CEPAS) ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและยกระดับสู่องค์กรที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทำการประกอบการโดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยคู่มือและระบบการประเมินดังกล่าวได้ผ่านการระดมความคิดเห็นจากสถานประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบการประเมินด้วยตนเองเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ทราบสถานะปัจจุบัน จุดแข็ง จุดอ่อน รวมถึงแนวทางในการพัฒนา ด้วยการนำผลการประเมินที่ได้ไปใช้วางแผนปรับปรุงองค์กร โดยสามารถ เปรียบเทียบ (Benchmark) ผลการประเมินกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้  ดังนั้น การประเมิน ประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงอุตสาหกรรมแร่ อุตสาหกรรมพื้นฐาน หรืออุตสาหกรรมรีไซเคิลเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์พร้อมร่วมนำร่องประเมินในสถานประกอบการแล้ว

“สำหรับการส่งเสริมสถานประกอบการร่วมดำเนินการตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ได้นั้น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ให้ความสำคัญ  จึงมีแนวคิดที่จะสร้างแรงจูงใจโดยเฉพาะด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับสถานประกอบการที่ดำเนินการตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือการประเมินประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร ได้ทางลิงก์ https://qrgo.page.link/rs8bv และสามารถเข้าใช้ระบบการประเมินฯ ได้ทางเว็บไซต์ http://cepas.dpim.go.th  หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 3904

          9 พฤศจิกายน 2563

 

          QR Code คู่มือการประเมินฯ

          https://qrgo.page.link/rs8bv

 

          QR Code ระบบการประเมินฯ

          http://cepas.dpim.go.th/

         

ไฟล์เอกสารแนบ
DownloadPress Release
 

 
Copyright©2009 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่. All Right Reserved.
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400.
โทร. 0-2202-3555, 0-2202-3565, 0-2202-3567. โทรสาร.0-2644-8746
  นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายและแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ