หน้าแรก เกี่ยวกับกรม เหมืองแร่เพื่อชุมชน กฎหมาย ถาม-ตอบ ติดต่อกรม แผนผังเว็ปไซต์ ข่าว RSS
 
10 แร่ ที่มีคุณค่าสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ

          

 

1.

ทองคำ (Gold)

ทองคำมีความสำคัญต่อประเทศในหลากหลายมิติ เพราะเป็นทั้งหลักประกันในทุนสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย และยังผูกพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีในรูปทรัพย์สินและเครื่องประดับ คนไทยใช้ ทองคำในงานพุทธศิลป์และพิธีมงคลต่าง ๆ  นอกจากนั้น ยังใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น  ประเทศไทยพบแหล่งแร่ทองคำในหลายจังหวัด

 

2.

 

ถ่านหิน (Coal)

ถ่านหินเกิดจากการสะสมตัวของซากพืชในแอ่งน้ำเป็นเวลาหลายปีเป็นแหล่งเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ในโรงผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน รวมถึงใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตที่จำเป็นต้องใช้ความร้อนของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตซีเมนต์ อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น

 

 

3.

หินอุตสาหกรรม (Industrial Rock)

หินอุตสาหกรรม เช่น หินปูน หินแกรนิต หินบะซอลต์ พบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศและเป็นวัตถุดิบที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างบ้าน พัฒนาเมือง  สิ่งปลูกสร้างสำคัญล้วนต้องใช้หินอุตสาหกรรมในการขึ้นรูปก่อร่าง  ยิ่งประชากรและเมืองขยายตัวมากเท่าใด หินอุตสาหกรรมก็ยิ่งเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของระบบการขนส่งและโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทำให้หินอุตสาหกรรมเป็นที่ต้องการมากขึ้น

 

4.

โดโลไมต์ (Dolomite)

โดโลไมต์พบได้ทั้งในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันตก โดยใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมถลุงเหล็ก อุตสาหกรรมเซรามิก และยังมีประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรมในการใช้ปรับสภาพความเป็นกรดด่างและเพิ่มแร่ธาตุในดิน รวมทั้งยังมีส่วนช่วยในการพื้นฟูสภาพแวดล้อมโดยใช้ในการปรับสภาพน้ำ


5.

เฟลด์สปาร์ (Feldspar)

เฟลด์สปาร์หรือแร่ฟันม้าที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ และโซเดียมเฟลด์สปาร์ พบได้ในจังหวัดตาก นครศรีธรรมราช ราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่  ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก เครื่องปั้นดินเผา กระเบื้องปูพื้น เครื่องเคลือบ อุตสาหกรรมแก้ว อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมลวดเชื่อมไฟฟ้า เป็นต้น

 

6.

ทรายแก้ว (Glass Sand)

ทรายแก้วเป็นทรายที่สะอาด นำมาใช้ในงานอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันหายากมากขึ้น มีความบริสุทธิ์ของซิลิกาสูง มีเหล็ก และสารมลทินอื่น ๆ เจือปนอยู่เพียงเล็กน้อย พบมากบริเวณ ชายหาด ชายทะเลทั่วไป ทั้งในบริเวณภาคตะวันออก เช่น จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด  และภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร ตรัง ปัตตานี และกระบี่  ใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเซรามิก ใช้ทำเป็นแบบหล่อเหล็กในอุตสาหกรรมเหล็กหล่อและใช้เป็นผงขัดสนิมเหล็ก

 

7.

เกลือหินและโพแทช (Rock Salt and Potash)

แร่กลุ่มนี้เกิดจากการระเหยของน้ำทะเลซึ่งมีสารละลายโพแทชและโซเดียมในแอ่งปิด แหล่งแร่เกลือหินและโพแทชของไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลก พบได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกลือหิน (NaCl) หรือเกลือแกง นอกจากใช้ในการบริโภคแล้ว ยังใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเคมีภัณฑ์ในการผลิตโซดาไฟและคลอรีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่น ๆ จำนวนมาก   ส่วนโพแทช (K) เป็นหนึ่งในธาตุหลักของปุ๋ยเคมี และยังใช้ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์บางชนิดด้วย


8.

ยิปซัม (Gypsum)

ยิปซัมหรือเกลือจืดเป็นแร่อโลหะที่มีความเปราะมาก ลักษณะวาวคล้ายแก้วหรือมุก ใสไม่มีสีหรือสีเทา ภาคอุตสาหกรรมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของปูนซีเมนต์ ทำปูนปลาสเตอร์ และยิปซัมบอร์ดเพื่อใช้กันความร้อน นอกจากนั้น ยังนำไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับสภาพดินเค็ม และนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ชอล์ก กระดาษ ดินสอ เป็นต้น

 

9.

สังกะสี (Zinc)

ด้วยคุณสมบัติในการเป็นโลหะที่มีความแข็งแรงทนต่อการผุกร่อน สังกะสีจึงนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะใช้ในการเคลือบชุบเหล็กเพื่อเพิ่มความคงทน ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และหล่อเป็นชิ้นงานผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความแม่นยำในการคงขนาด เช่น คาร์บูเรเตอร์ บานพับประตู เป็นต้น และยังใช้ในอุตสาหกรรมโลหะสังกะสีผสม (Zinc Alloy) เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้โลหะชนิดต่าง ๆ


10.

ดีบุก (Tin)

มีความสำคัญต่อประเทศไทยในอดีต โดยเฉพาะภาคใต้  แร่ดีบุกที่ได้จากการถลุงเป็นโลหะดีบุกจะนำไปใช้เคลือบโลหะทำภาชนะบรรจุอาหาร  ผสมกับตะกั่วทำตะกั่วบัดกรี  ผสมกับทองแดงเป็นทองสัมฤทธิ์เพื่อทำชิ้นส่วนเครื่องจักรกล พระเครื่อง  ผสมกับทองแดงและพลวงทำพิวเตอร์  ผสมกับสังกะสีและพลวงใช้ชุบสังกะสีมุงหลังคา  ผสมกับเงินและปรอททำเป็นสารอุดฟันทางทันตกรรม  และใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา  เครื่องเคลือบ  พลาสติก  สีทาบ้าน  เป็นต้น


 
Copyright©2009 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่. All Right Reserved.
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400.
โทร.0-2430-6835 โทรสาร.0-2644-8746
  นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ | ไซเบอร์