
การเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วม
การประชุมหารือระดมความคิดเห็นในการพิจารณาแนวทางการปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด
(1) ประเด็นหรือเรื่องในการมีส่วนร่วม
20 กุมภาพันธ์ 2566 - กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดประชุมหารือระดมความคิดเห็นในการพิจารณาแนวทางการปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ณ ศาลากลางจังหวัดเลย
(2) สรุปข้อมูลของผู้มีส่วนร่วม
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ในการปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ นักวิชาการและผู้แทนประชาชนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จำนวน 6 หมู่บ้าน และผู้แทนของ กพร. ได้แก่ นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายยุทธศิลป์ รักญาติ ผู้อำนวยการกองบริหารสิ่งแวดล้อม และนายเชาวลิตร์ ทองประดับ ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี ร่วมประชุมหารือระดมความคิดเห็นในการพิจารณาแนวทางการปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด
(3) ผลจากการมีส่วนร่วม
ในที่ประชุมได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยที่ประชุมมีมติ ให้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำและพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเลยหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานคณะทำงานฯ และให้มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นักวิชาการและผู้แทนประชาชนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จำนวน 6 หมู่บ้าน ในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อร่วมจัดทำและพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ โดยมุ่งหวังให้เกิดความไว้วางใจและเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ อย่างแท้จริง
(4) การนำผลการมีส่วนร่วมไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงาน
ทั้งนี้ กพร. อยู่ระหว่างดำเนินการตามมติที่ประชุม ดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ และจัดให้มีประชุมคณะทำงานฯ เพื่อจัดทำและพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ต่อไป
.