หน้าแรก เกี่ยวกับกรม เหมืองแร่เพื่อชุมชน กฎหมาย ถาม-ตอบ ติดต่อกรม แผนผังเว็ปไซต์ ข่าว RSS
ประกาศร่างขอบเขตของงาน(TOR)
ประกาศราคากลาง
ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศการขายทอดตลาด
ประกาศผลการสอบราคา/ประกวดราคา
สรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างรายเดือน (สขร.1)
 
10 ปี พิธีมอบรางวัลประจำปี 2562 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม เเละสิ่งเเวดล้อม

          

 

10 ปี พิธีมอบรางวัลประจำปี 2562 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม เเละสิ่งเเวดล้อม

กระทรวงอุตสาหกรรม ปลื้ม 10 ปี 258 สถานประกอบการได้มาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวและ 109 สถานประกอบการได้มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมเดินหน้าต่อมาตรการเชิงรุก ผลักดันสถานประกอบการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนก่อให้เกิดความมั่นคง ด้านแร่ในระยะยาว

นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ดำเนินนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ในเชิงรุกมากขึ้น โดยทำหน้าที่กำกับดูแลควบคู่กับการสนับสนุนส่งเสริมด้านต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานการประกอบการที่ดี ยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการให้มีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน  โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 10 ปี มีผู้ประกอบการที่ผ่านมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวแล้วทั้งสิ้น 258 ราย และมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ จำนวน 109 ราย ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน CSR-DPIM ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและยกระดับการประกอบอุตสาหกรรมแร่ของประเทศ สอดคล้องตามนโยบายการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับนโยบายของท่านรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้มอบให้กับ กพร. นำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

“การสร้างมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM) ผู้ประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและยกระดับการประกอบการของตน ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการสร้างการยอมรับการประกอบการ ของอุตสาหกรรมแร่ รวมทั้งสร้างความเข้าใจในความจำเป็นของการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์จากภาคสังคม ทั้งประชาชน หน่วยงานท้องถิ่น และภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถผลิตและใช้แร่ได้อย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดความมั่นคงของวัตถุดิบอุตสาหกรรมด้านแร่ในระยะยาวต่อไป” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ด้านนายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Award) ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินตามนโยบายเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Policy) ได้แก่ มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมีการลดป้องกัน และแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลความปลอดภัยต่อคนงาน และชุมชนโดยรอบ มีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา มีความโปร่งใส และมีการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า  โดยในปี 2562 นี้ มีผู้ผ่านเกณฑ์การประเมินและได้รับรางวัลมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว จำนวน 41 ราย และได้รับรางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวสำหรับสถานประกอบการรายเดิมที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จำนวน 119 ราย

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน CSR-DPIM ก็ต้องดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐาน CSR-DPIM ได้รับการพัฒนามาจากมาตรฐานสากล ISO 26000 โดยปรับปรุงให้เหมาะสมกับการประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งผู้ประกอบการต้องสามารถนำแนวปฏิบัติไปปรับปรุงการดำเนินงานให้มีมาตรฐานมากขึ้น  สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ  มีการนำวัสดุเหลือใช้จากการทำเหมืองแร่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นการส่งเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น ซึ่งในระยะเวลา 10 ปี มีสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐาน CSR-DPIM แล้ว 109 ราย  และในปี 2555 ได้เริ่มจัดตั้งเครือข่าย CSR-DPIM ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือในระดับเครือข่ายของผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน CSR-DPIM  ปัจจุบันมีสมาชิก 84 ราย  โดยในปี 2562 มีสถานประกอบการได้รับรางวัลการดำเนินงานตามมาตรฐาน CSR-DPIM จำนวน 6 ราย  รางวัลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ผ่านเกณฑ์ระดับดีเยี่ยม ได้ 100 คะแนนเต็ม จำนวน 12 ราย  รางวัลบุคลากรดีเด่นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม CSR-DPIM จำนวน 3 ราย  และรางวัลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง จำนวน 47 ราย

“กพร. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ และดำเนินการเชิงรุกในการผลักดันและส่งเสริมให้สถานประกอบการยกระดับการประกอบการสู่มาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว และ CSR-DPIM เพื่อให้เป็นสถานประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับของสังคมมากยิ่งขึ้นต่อไป” รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวทิ้งท้าย

 

                  19 กันยายน 2562

 

 

 

 

ไฟล์เอกสารแนบ
DownloadPress release
 

 
Copyright©2009 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่. All Right Reserved.
75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400.
โทร.0 2430 6835 โทรสาร 0 2644 8746
  นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ